“คาร่า” (Cara Tiger) เสือโคร่ง “ฟันทอง”


“คาร่า” (Cara) เสือโคร่งเบงกอลอายุ 6 ปี ณ ศูนย์ดูแลสัตว์ Tierart ในเมือง Massweiler ประเทศเยอรมันนี กลายเป็นเสือสุดฮิปหลังจากได้รับการใส่เขี้ยวทองคำ เนื่องจากมันทำเขี้ยวหักหลังจากมันพยายามขัดฟันกับกำแพงปูนซีเมนต์

เมื่อปี 2013 เจ้าคาร่าถูกพบอยู่ในฟาร์มส่วนตัวแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี ก่อนถูกย้ายมายังประเทศเยอรมันนีในปี 2015 โดย เอวา ลินเดนชมิดต์ ผู้ดูแลศูนย์ดูแลสัตว์แห่งนี้กล่าวว่า “มันมีปัญหาเกี่ยวกับฟันมานานแล้วและได้รับการผ่าตัดฟันถึง 2 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้มันหายได้ 100% ทำให้เราปรึกษากับทีมสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเวียนนาถึงความเป็นไปได้ในการปลูกรากฟันทองคำให้มัน” 

ซึ่งสาเหตุที่ต้องเป็นฟันทองคำก็เพราะประเภททองคำในด้านทันตกรรมนั้นแข็งแรงกว่าทองคำทั่วไปมาก มันทนทานต่อแรงเสียดสีและแรงกัดสูง นั่นหมายความว่า เจ้าเสือตัวนี้จะไม่มีวันเขี้ยวหักอีกต่อไป แถมทองคำยังช่วยปกป้องฟันจากคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารต่าง ๆ ไม่ให้เข้าไปติดตามซอกฟัน ช่วยไม่ให้ฟันผุได้อีกด้วย อีกทั้งฟันทองคำนี้จะอยู่ถาวรตลอดชีวิต

ดร.เยนส์ รูห์เฮา และ ดร.โจฮันนา ไพเนอร์ สัตวแพทย์ผู้ทำการปลูกถ่ายฟันให้เจ้าคาร่า กล่าวว่า “การที่ทำเช่นนี้ เพื่อช่วยให้มันไม่ต้องทุกข์ทรมานกับการกินอีกต่อไป ซึ่งหลังจากปลูกถ่ายเห็นได้ชีดว่าคาร่ายังไม่ชิน มันเลียฟันตลอดเวลา แต่ผ่านไป 3 สัปดาห์ มันก็ปรับตัวได้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข”

ข้อมูลพื้นฐาน – เสือโคร่งเบงกอล (Bengal Tiger) ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera Tigris Tigris กระจายตัวตามธรรมชาติในอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ และพม่า มีอายุขัยเฉลี่ย 8-10 ปี มีขนาดโตเต็มที่ยาว 360 เซนติเมตร หนัก 180 กิโลกรัม ทั้งนี้เมื่อราว ๆ ปี ค.ศ.1920 ที่ประเทศอินเดียเคยมีกีฬาล่าเสือโคร่งเบงกอลเป็นกีฬาเฉพาะชนชั้นสูง เนื่องจากในอดีตมีมนุษย์ถูกเสือเบงกอลคร่าชีวิตมากถึง 1,600 รายต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันแล้ว จำนวนเสือเบงกอลที่ถูกมนุษย์ล่าก็มากกว่าที่พวกมันล่ามนุษย์อยู่ดี (ไม่มีตัวเลขแน่ชัดแต่คาดว่ามากกว่าถึง 3 เท่า)

ปัจจุบันพวกมันถูกระบุให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เต็มที เนื่องจากถูกล่าเอาหนังทำเครื่องประดับ กระดูกและอวัยวะจะถูกนำไปทำยาสมุนไพร โดย IUCN คาดว่าพวกมันเหลืออยู่ตามธรรมชาติเพียง 3,500 ตัวเท่านั้น

Fact – แฟชั่น “ฟันทองคำ” มีมาตั้งแต่เมื่อราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบว่ามีการใช้ทองมายึดติดกับฟัน คือ โครงกระดูกชาวอียิปต์ที่ใช้แผ่นทองยึดติดกับฟันเข้าด้วยกันเป็นแถบยาวๆ ด้านหน้า ซึ่งในอดีตไม่ได้ใช้วิธีคลอบฟันแบบในปัจจุบัน แต่จะใช้วิธีเจาะรูบนฟันแต่ละซี่และฝังทองคำเข้าไป

Post a Comment

[blogger]

MKRdezign

Contact Form

Name

Email *

Message *

Powered by Blogger.
Javascript DisablePlease Enable Javascript To See All Widget