บทความที่น่าอ่านและหนังสืออีบุ๊คส์ - ooksbee

โพสต์ล่าสุด


จากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมและการตรวจสอบลักษณะของกะโหลกอย่างใกล้ชิดในกลุ่มของวาฬบาลีนที่พบทางตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวเม็กซิโก เผยให้เห็นถึงวาฬสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวาฬบรูด้า มาตลอด

ลินซีย์ วิลค็อกซ์ นักพันธุศาสตร์จาก NOAA กล่าวว่า “ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มาก ที่เราพบวาฬสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่ ที่เปรียบเหมือนสวนหลังบ้านเราเอง ฉันไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสพูดถึงวาฬสายพันธุ์ใหม่ในชีวิตการทำงาน ดังนั้นมันจึงเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นสุด ๆ”

โดยวาฬสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ไรซ์” (Rice) มีจำนวนประชากรน้อยกว่า 100 ตัว ทำให้ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในอ่าวเม็กซิโก ที่ซึ่งถูกเรียกว่า “บ้าน” ของเหล่าวาฬ โดยวาฬไรซ์เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของ วาฬบาลีน (Baleen whales) แต่ที่ผ่านมาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกันกับวาฬบรูด้ามาโดยตลอด

วาฬสายพันธุ์ใหม่นี้ มักจะอาศัยอยู่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวเม็กซิโก และมักหาอาหารบริเวณใต้น้ำ อีกทั้งยังไม่สุงสิงกับวาฬบรูด้าทั่วไป ขณะที่วาฬบรูด้ามักถูกพบบริเวณมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแอตแลนติก และแปซิฟิก และจะหาอาหารบริเวณผิวน้ำ

วิลค็อกซ์ ยังกล่าวอีกว่า “การจะแยกสายพันธุ์ของสัตว์ที่มีความคล้ายคลึงขนาดนี้ได้นั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องการหลักฐานทางพันธุกรรมและการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ทำให้เราเริ่มเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากวาฬไรซ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2000 จนสามารถเก็บตัวอย่างทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันถึง ’36 ตัวอย่าง’ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างวาฬไรซ์กับวาฬบรูด้า และมีหลักฐานมากพอจนสามารถประกาศการค้นพบครั้งนี้ได้นั่นเอง”

เพิ่มเติม – ในเดือนมกราคมปี 2019 มีการพบวาฬไรซ์ถูกซัดมาเกยตื้นบริเวณหาดฟลอริดา จึงได้มีการตรวจสอบกะโหลกของพวกมัน ซึ่งเผยให้เห็นความแตกต่างของรูปร่างและขนาดกระดูกรอบ ๆ ช่องลม เมื่อเทียบกับวาฬบรูด้า และวาฬอีเดน (Eden’s whales – เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกันอีกชนิดหนึ่ง) ซึ่งวิลค็อกซ์มองว่า ความแตกต่างของพันธุกรรมและโครงกระดูกที่ค้นพบเหล่านี้ เพียงพอที่จะกำหนดให้วาฬไรซ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของวาฬบลูด้า

ต่อมาไม่นาน-เดือนเมษยน (ปีเดียวกัน) สหรัฐอเมริกาได้ระบุให้ “วาฬไรซ์-เป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ และเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทันที” (แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเท่าใดนัก) เนื่องจากวาฬที่อาศัยอยู่ในอ่าวเม็กซิโกต้องเผชิญภัยคุมคามจากน้ำมันรั่วไหล เรือล่ม และการเข้าไปติดอยู่ในอุปกรณ์หาปลาแทบตลอดเวลา


ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ล้านปีก่อน ในยุคไมโอซีน บริเวณทวีปอเมริกาใต้ คือที่อยู่อาศัยของ “พูรัสซอรัส” (Purussaurus) สายพันธุ์ไคแมน (Caiman) จระเข้ยักษ์ ที่มีขนาดตัวยาว 10-13 เมตร หนัก 1,100 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับจระเข้ในยุคปัจจุบัน เจ้าพูรัสซอรัสจะเปรียบเสมือนรถถังที่วิ่งบนท้องถนนเลยล่ะ

โดยการมีอยู่ของสัตว์โบราณชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1892 จากการขุดพบฟอสซิลกะโหลกศรีษะที่ประเทศบราซิล และชิ้นส่วนอื่น ๆ ก็ถูกพบตามมาเรื่อย ๆ ในประเทศ เวเนซุเอราตอนเหนือ และในป่าแอมะซอนของประเทศเปรู ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในบริเวณใกล้กับแม่น้ำหรือที่ราบน้ำท่วมถึง รวมถึงตามแนวชายฝั่งทะเลก็พบเช่นกัน

อดีตเคยมีการขุดพบฟอสซิลกะโหลกศรีษะที่มีความยาวถึง 150 เซนติเมตร ซึ่งนักวิจัยได้ทำการจำลองกล้ามเนื้อและวิเคราะห์แรงกัดของมัน พบว่ามีค่าอยู่ที่ 69,000 นิวตัน มากกว่าฉลามขาวที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแรงกัดมาที่สุดในโลก (ยุคปัจจุบัน) เกือบ 4 เท่า และกล้ามเนื้อกรามที่แข็งแกร่งกว่าจระเข้น้ำเค็มอีกด้วย (ว่ากันว่ากรามของพูรัสซอรัสสามารถขยี้กะโหลกทีเรกส์ได้เลยล่ะ) ทั้งนี้ ด้วยขนาดตัวมหึมาแถมยังเป็นนักล่าที่ทรงพลัง เหล่านักบรรพชีวินต่างเรียกมันว่า “อสูรกายใต้น้ำ” กันเลยทีเดียว

จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เมื่อเทียบขนาดตัวและนักล่าต่าง ๆ นักวิจัยยืนยันว่า พูรัสซอรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในยุคนั้น มันล่าเหยื่อที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และจำเป็นต้องบริโภคเนื้อประมาณ 40 กิโลกรัมต่อวัน (มากกว่าจระเข้ปัจจุบัน 20 เท่า) แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ในเมื่อมันทั้งใหญ่และแข็งแกร่งขนาดนั้น แล้วทำไมถึงสูญพันธุ์ได้ล่ะ ? 

คำตอบก็คือ เพราะความใหญ่ของมันนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุให้มันสูญพันธุ์ ซึ่งคล้ายกับกรณีของ เมกาโลดอน (Megalodon) ที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป แต่พวกมันไม่ยอมปรับตัวตาม เช่น แหล่งอาหารที่เคยมีขนาดใหญ่ก็ปรับตัวให้มีขนาดเล็กลงทำให้อาหารไม่พอกิน หรือ ที่อยู่อาศัยที่เคยกว้างขวางก็มีขนาดเล็กลงจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาจนพวกมันไม่สามารถอยู่ได้ กระทั่งท้ายที่สุดพวกมันค่อย ๆ ล้มตายลงและสูญพันธุ์ไปนั่นเอง

เพิ่มเติม – “ไคแมน” (Caiman) คือ สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในตระกูล อัลลิเกเตอร์ (Alligator) มีถิ่นอาศัยอยู่ที่อเมริกาใต้และอเมริกากลาง มีขนาดเล็กกว่าอัลลิเกเตอร์ ช่องเปิดจมูกมีช่องเดียวขนาดใหญ่ ซึ่งสายพันธุ์ไคแมนที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ แบล็คไคแมน (Black Caiman) สามารถโตได้สูงสุดประมาณ 5 เมตร

Fact – รู้หรือไม่ ? นักวิทยาศาสตร์พบว่าจระเข้ในอดีตสามารถวิ่งควบได้เหมือนม้า ซึ่งสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่จากการวิเคราะห์พบว่า พวกมันจะใช้สกิลวิ่งควบแบบนี้ในการหนีมากกว่าที่จะใช้สำหรับล่า


เชื่อหรือไม่ว่า..เหล่าอัจฉริยะอย่าง ลีโอนาโด ดาวินชี และ นิโคลา เทสลา ใช้เวลานอนเพียงวันละไม่ถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งฟังดูบ้าบิ่นแต่การนอนแบบนี้มีจริง มีชื่อเรียกว่า “โพลีเฟซิค” (Polyphasic) หมายถึงการนอนมากกว่าวันละ 2 ครั้ง โดยแบ่งการนอนเป็นช่วง ๆ ในแต่ละวัน ซึ่งชายคนหนึ่ง (ไม่เปิดเผยชื่อ) ได้ทดลองทำตามและนี่คือผลที่เกิดขึ้น..

เล่าให้ฟังก่อนว่า การนอนแบบโพลีเฟซิคนั้นถูกเรียกอย่างเป็นทางการในช่วงทศวรรษที่ 1940 เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคนั้นเนื่องจากผู้คนต้องการลดชั่วโมงที่ใช้บนเตียงให้น้อยลงเพื่อให้มีเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งในทางการแพทย์ระบุว่าคนทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องนอนด้วยวิธีแบบนี้ แต่คนที่ควรนอนแบบนี้ก็คือ หมอ พยาบาล หรืออาชีพอื่น ๆ ที่ชั่วโมงการทำงานและเวลาพักผ่อนไม่ค่อยเหมือนอาชีพทั่วไป

เอาล่ะมาเริ่มการทดลองกัน..โดยชายหนุ่มแบ่งเวลาการนอนดังนี้ คือกลางคืน 4 ชั่วโมง (ช่วงตี 1.30-4.30 น.) และ นอนกลางวัน 25 นาที หลังมื้อเที่ยง (13.10-13.35 น.) และ อีก 25 นาทีหลังกลับถึงบ้าน (20.00-20.25 น.) ซึ่งเขาใช้เวลาทดลองการนอนแบบนี้อยู่นาน 14 วัน ปล.การแบ่งชั่วโมงการนอนไม่มีตายตัวเพียงแต่ในนอนมากกว่าวันละ 2 ครั้งก็พอ (อย่าลืมว่าเป้าหมายคือลดชั่วโมงการนอน)

โดยวันแรกที่เริ่ม เขาระบุว่า “มันน่าทึ่งมาก ผมมีเวลาในการทำกิจกรรมหลายอย่างที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเวลาได้ทำ เช่นว่ายน้ำ คิดแผนงาน พาหมาไปเดินเล่น แต่หลังตื่นก็ยังง่วงอยู่บ้าง ร่างกายยังไม่ชิน และใช้ความพยายามสูงในการนอนหลับตามเวลาที่กำหนด” ถัดมาในวันที่ 2-3 พบว่า “เวลาของฉันเริ่มไม่ตรงกับเพื่อน คนส่วนใหญ่ไปปาร์ตี้หลังเลิกงาน แต่ฉันต้องไปเตรียมตัวนอน เพราะหากไปปาร์ตี้จะไม่สามารถนอนตามตารางเวลาได้ ซึ่งในวันที่ 2-3 นั้นร่างกายเริ่มเพลีย อ่อนแรง คาดว่าต้องเวลา 2 สัปดาห์กว่าร่างกายจะชินเป็นปกติ”

จนกระทั่งในวันที่ 5 ผลที่ได้น่าตกใจ “ผมตื่นมาแบบสดชื่นมาก ๆ กระปรี้กระเปร่ามากกว่าเดิม มีเวลาว่างเหลือเฝือจะอ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งเล่นเกม และไม่รู้สึกฝืนร่างกายให้นอนหลับอีกต่อไป” การทดลองดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันที่ 14 เขาได้ยุติการนอนแบบโพลีเฟซิค และปล่อยให้ร่างกายเลือกเวลาพักผ่อนเอง ผลปรากฎว่าเขาใช้เวลานอนตอนกลางคืนเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น และเพิ่มเวลานอนตอนกลางวันเป็น 3 ครั้งแทน นั่นหมายความว่า เขามีเวลาในแต่ละวันหากลบเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงออกไป เขาจะมีเวลาว่างสำหรับเวลาส่วนตัวมากถึง 12 ชั่วโมงเลยทีเดียว (ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานเท่าเดิม)

สรุป – ข้อดี : สามารถทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่างเสร็จก่อนออกไปทำงาน และเวลาเหลือเฝือจะไปทำสิ่งที่ชอบ แม้แต่เรื่องไร้สาระก็สามารถทำได้ สามารถนอนและตื่นได้โดยไม่ต้องตั้งปลุก กินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น มีเวลาอ่านหนังสือและออกกำลังกาย ข้อเสีย : ปรับตัวยากมากในช่วงแรก ลืมวันเวลาสนเพียงแค่กลางวัน-กลางคืนเท่านั้น อดไปปาร์ตี้หรือเที่ยวกลางคืน เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะทำลายตารางเวลานอนที่วางไว้

Fact – ปรากฏการณ์ “Sleepy Hollow” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2013 กับหมู่บ้านกาลัคชี อยู่ทางตอนเหนือของประเทศคาซัคสถาน ที่จู่ ๆ ผู้คนในหมู่บ้านกว่า 160 คน ถูกหามส่งโรงพยาบาล หลังมีคนพบว่าพวกเขานอนหลับเป็นเวลานานมากกว่า 2 วัน บางคนหนักสุด 6 วันเลยก็มี แต่พอพวกเขาตื่นขึ้นมากลับจำอะไรไม่ได้ มึนงง ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งในปี 2015 นักวิจัยพบสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่ามาจาก เหมืองยูเรเนียมที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองแห่งนี้เพียงไม่กี่กิโลเมตร พบปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรคาร์บอนอยู่ในอากาศมากกว่าปกติ และเมื่อเข้าไปตรวจสอบที่เหมืองเก่าก็พบว่า มีค่ากัมตรังสีสูงกว่าปกติถึง 16 เท่า เป็นเหตุให้ชาวบ้านต่างพากันหมดสติไปนั่นเอง


ออกซิเจนถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักชีวทางทะเลได้ค้นพบฝูงปลาทะเลขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกของอ่าวแคลิฟอร์เนียซึ่งแทบไม่มีออกซิเจนอยู่เลย ทั้งยังพบอีกว่า ปลาทะเลเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีออกซิเจนต่ำ (ทั้งที่ถือเป็นสิ่งที่อันตรายต่อปลาส่วนใหญ่) การค้นพบนี้จึงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าสัตว์ทะเลอื่น ๆ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีใต้มหาสมุทรได้อย่างไร

นาทาเลีย แกลโล นักวิจัยจาก Scripps และจิม แบร์รี นักชีววิทยาจาก MBARI ได้อธิบายการค้นพบของพวกเขาลงในวารสาร Ecology ว่า “เมื่อปี 2015 พวกเขาทั้งสองและทีมนักวิจัยอีก 8 คน ทำการสำรวจแอ่งน้ำลึกหลายแห่งของอ่าวแคลิฟอร์เนียโดยใช้หุ่นยนต์ (ROV) Doc Rickets ที่ควบคุมโดยใช้รีโมทระยะไกล”

แกลโลกล่าวว่า “ฉันแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง พวกเราสังเกตเห็นปลาไหลคัสก์อีล (Cusk Eel), ปลาแกรนาเดียร์ (Grenadiers) และปลาฉลามลอลลิพอพ (Lollipop) รวมกันหลายร้อยตัวว่ายไปมาอย่างสบายใจในบริเวณที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนไม่ถึง 1 % (เมื่อเทียบกับออกซิเจนบนพื้นผิวทั่วไป)

โดยข้อมูลจาก (ROV) Doc Rickets ได้แสดงให้เห็นว่า ปลาเหล่านี้สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มขนของออกซิเจนต่ำได้นานกว่า 1 ใน 10 เมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่นที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมลักษณะเดียว และที่น่าตกใจคือ ปลาบางชนิดอย่าง ปลาไหลคัสก์อีลและปลาฉลามลอลิพอพ ดูเหมือนจะชอบบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำมากกว่าบริเวณที่มีออกซิเจนปกติด้วยซ้ำ

ทั้งนี้นักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปลาหลายร้อยตัวเหล่านี้สามารถอยู่รอดได้อย่างไร ? มิหนำซ้ำเหตุใดจึงสามารถเจริญเติบโตได้สภาวะที่เลวร้ายเช่นนี้ ? อีกทั้งทำไมพวกมันจึงมารวมตัวกันในพื้นที่ทรหดแบบนี้ ? หรือบางทีมันอาจพยายามหลีกเลี่ยงสัตว์นักล่า ซึ่งแน่นอนว่าความลึกลับต่าง ๆ เป็นสิ่งที่พวกเขาพยายามจะไขคำตอบให้ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยกล่าวทิ้งท้ายว่า “จริงอยู่นะที่มีปลาประหลาดอีกหลายชนิดทนต่อสภาวะออกซิเจนต่ำ แต่ดูปลาที่เราพบในอ่าวเหล่านี้สิ พวกมันเปรียบเสมือนนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกปอดเหล็กเลยล่ะ”

Fact – ปรสิตที่อาศัยอยู่ในแซลมอนอย่าง H. salminicola สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนเลยแม้แต่นิดเดียว พวกมันเป็นสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย เช่นเดียวกับแมงกะพรุน ไฮดร้า และดอกไม้ทะเล ที่สามารถดำรงชีวิตได้โดยการอาศัยอยู่ในปลาแซลมอน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำหรือแทบไม่มีออกซิเจนในตลอดวงจรชีวิตของมัน แต่สบายใจได้ เรายังคงกินแซลมอนได้อยู่ เพราะนักวิทยาศาสตร์บอกปรสิตชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์


นักวิจัยค้นพบวิธีการฝึกความจำแบบ “เชอร์ล็อค โฮล์มส์” (Sherlock Holmes) ที่ช่วยให้เราจำข้อมูลหรือสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ มีชื่อเรียกว่า “วิธีจำแบบโลไซ” (Method of Loci) หรือที่เรียกกันว่า “Memory Palace” วิธีนี้ถูกใช้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ (ราว 450 ปีก่อน)

โดยวิธีจำแบบโลไซนั้น คือ การที่เรา ‘ฝาก’ ความจำไว้ในสถานที่ที่คุ้นเคย โดยให้จดจำเป็นเส้นทาง เช่น ต้องการจำคำศัพท์ 10 คำ ให้จินตนาการว่า เสมือนเรานำคำศัพท์ทั้ง 10 คำนี้ ไปแปะไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน (แบบเป็นเส้นทาง) คือ ศัพท์คำแรกถูกแปะไว้ที่ทางเข้าประตู ศัพท์คำที่สองถูกแปะไว้ที่ลูกบิดประตู ศัพท์คำที่สามถูกแปะไว้ที่บันได เรียงลำดับไปเป็นต้น

อิซาเบลลา แวกเนอร์ นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวียนนาและแชมป์การแข่งขันทดสอบความจำระดับโลก (World Memory Championships) พิสูจน์แล้วและยืนยันด้วยตนเองว่ามันได้ผลจริง โดยเธอได้ทำการทดลองกับผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 50 คน แบ่งเป็น 17 คน ที่เข้ารับการฝึกจำแบบโลไซ, 16 คนฝึกจำด้วยเทคนิคอื่น และอีก 17 คนไม่ฝึกอะไรเลย ซึ่งทั้ง 50 คนนี้ มีอายุและสติปัญญาที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดด้วยการตรวจวัดสมองคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (fMRI)

เริ่มการทดลอง – ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับแบบฝึกหัดให้จำคำศัพท์ทั้งหมด 80 คำ หลังท่องจำเสร็จ ผ่านไป 20 นาที ผลปรากฎว่า ผู้ที่ฝึกจำแบบโลไซจำศัพท์ได้ 62 คำ ผู้ที่ฝึกจำแบบวิธีอื่นจำได้ 41 คำ และผู้ที่ไม่ได้ฝึกเลยจำได้ 36 คำ ต่อมาหลังผ่านไป 24 ชั่วโมง คำศัพท์เหล่านั้นถูกถามอีกครั้ง ผลคือ ผู้ที่ฝึกจำแบบโลไซจำได้ 56 คำ เทียบกับผู้เข้าร่วมทดลองอีก 2 กลุ่ม ที่จำได้ 30 คำ และ 21 คำ ตามลำดับ 

แต่การทดลองแบบนี้ ดูเหมือนจะเป็นการทดสอบความจำระยะสั้นเท่านั้น ทำให้อิซาเบลลาอยากรู้ว่าเทคนิคนี้จะช่วยพัฒนาความจำระยะยาวได้หรือไม่ เลยทดสอบความจำของพวกเขาทั้ง 50 คนอีกครั้งหลังผ่านไป 4 เดือน พบว่า กลุ่มที่จำแบบโลไซสามารถจำคำศัพท์ได้ 50 คำ มากกว่าอีก 2 กลุ่ม ที่จำได้ 30 และ 27 คำตามลำดับ ซึ่งผลลัพธ์นี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการจำแบบโลไซนั้น ช่วยพัฒนาทั้งความจำระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนี้ ผลการสแกนสมองรอบ 2 จากเครื่อง fMRI ปรากฏว่า ผู้ที่ฝึกวิธีจำแบบโลไซมีเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกันเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ความจำดีขึ้น) มันบ่งบอกถึงการทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ อิซาเบลลา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาแน่ชัดว่าการจำแบบนี้ช่วยให้สมองทำงานดีขึ้นกว่าเดิมจริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถฝึกให้มีความจำดีแบบเชอร์ล็อคโฮล์มส์ด้วยวิธีเดียวกันนี้ได้จริง ๆ นะ”

Fact – รู้หรือไม่ว่า “การถึงจุดสุดยอด” ช่วยให้เราฉลาดขึ้นได้จริง ๆ เพราะทุกครั้งที่เสร็จจะมีเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองมากกว่าปกติ เคยมีการวิจัยพบว่าวิธีนี้สามารถบริหารสมองได้ดีกว่าการเล่น Cross Words หรือปริศนาอักษรไขว้ เสียอีก


“แมงกะพรุนอิรุคันจิ” (Irukandji jellyfish) – เป็นชื่อสามัญของแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงอันดับต้น ๆ ของโลก จัดอยู่ในกลุ่มแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) ชนิดมีหนวดเส้นเดียว แม้มันจะมีขนาดตัวที่เล็กเพียง 1-3 เซนติเมตร หนวดยาวประมาณ 30 – 100 เซนติเมตร มีทั้งหมด 4 เส้น แบ่งเป็นด้านละ 1 เส้นรอบตัวมัน แต่เห็นตัวจิ๋วแบบนี้กลับมีพิษร้ายแรงติดอันดับโลก

โดยพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ส่งผลให้เกิดเลือดออกในสมอง อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พิษจะเข้าไปกดทับระบบประสาทจนถึงขั้นหยุดหายใจ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งพิษจะออกฤทธิ์ตั้งแต่ 5-120 นาที (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของคนไข้ – แพทย์ยืนยันว่าพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้รุนแรงกว่างูเห่าบ้านเราเสียอีก) และทุก ๆ ปีจะมีผู้เคราะห์ร้ายจากการโดนพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ราว 50-100 คน ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ฮันนา มิตเชลล์ คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการถูกจู่โจมโดยแมงกะพรุน อิรุคันจิ ขณะว่ายน้ำบริเวณเกาะกู๊ดวินนอกชายฝั่งแดมเปียร์ ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย

ฮันนา เล่าว่า “หลังผ่านไป 40 นาที จากการถูกจู่โจมโดยแมงกะพรุนอิรุคันจิ ฉันรู้สึกสั่นไปทั้งตัวแถมยังไอเป็นเลือด สิ่งที่รู้ได้ในตอนนั้นมันเป็นมากกว่าความเจ็บปวด และคิดว่าตัวเองต้องไม่รอดแน่นอน หลังจากผ่านช่วงโคม่าไป 2 วัน ฉันตื่นขึ้นมาและรับรู้ว่าปอดกับหัวใจถูกทำร้ายอย่างหนักหน่วง” ซึ่งในบริเวณเกาะดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตจากพิษของแมงกะพรุนมากกว่า 80 คน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1883 เป็นต้นมา โดยแบ่งเป็น 79 รายจากแมงกะพรุนกล่อง และอีก 2 รายจากแมงกะพรุนอิรุคันจิ

ถ้าอย่างนั้นแมงกะพรุนอิรุคันจิถือเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกหรือไม่ ? – แม้จะถูกกล่าวขานถึงพิษอันโหดร้ายและรุนแรงแต่มันยังไม่ใช่ที่สุดของโลก เพราะตัวที่รุนแรงที่สุดในโลกของจริงคือ “แมงกะพรุนกล่องชนิดมีหนวดหลายเส้น” ที่เรารู้จักกันส่วนใหญ่นั่นเอง

เพิ่มเติม – การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกจู่โจมจากแมงกะพรุนอิรุคันจิ คือการเทน้ำส้มสายชูบริเวณแผล เพราะน้ำส้มสายชูจะช่วยไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับพิษเพิ่มขึ้น (แต่น้ำส้มสายชูไม่ได้ช่วยชำระล้างพิษและไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้) นอกจากนี้ ห้ามใช้นิ้วหรือวัตถุใด ๆ ในการถอดหนวดออกเด็ดขาด เพราะจะเร่งให้เข็มพิษจากหนวดปล่อยพิษเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งการโดนแมงกะพรุนโจมตีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล ไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำว่า วิธีหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแมงกะพรุนเหล่านี้คือ การอยู่ให้ห่างจากที่อยู่อาศัยของพวกมัน โดยแมงกะพรุนกล่องทั่วไปมักจะอยู่ใกล้ชายฝั่ง ขณะที่แมงกะพรุนอิรุคันจิจะอยู่ทั้งบริเวณใกล้และนอกชายฝั่งออกไป รวมทั้งบริเวณแนวปะกะรังนอกชายฝั่งด้วย แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจคิดว่ามันจะเกิดขึ้นแต่ในออสเตรเลียนะ เพราะเจ้าแมงกะพรุนเหล่านี้ถูกพบได้บ่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งไทย-ฟิลิปินส์ เลยล่ะ

Fact – รู้จัก “แมงกะพรุนอมตะ” (Immortal Jellyfish) ชื่อวิทยาศาสตร์ Turritopsis dohrnii มีขนาดตัวเล็กจิ๋วเพียง 4.5 มิลลิเมตรเท่านั้น (เทียบเท่าเม็ดถั่ว) ซึ่งแม้จะตัวเล็กแต่พวกมันกลับซ่อนความสามารถพิเศษที่เมื่อใดก็ตามที่อายุเริ่มเยอะ ร่างกายเริ่มเสียหาย หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม พวกมันจะทำการหดตัวให้เล็กลง และร่างกายจะจัดเรียงเซลล์ใหม่กลายเป็น “Polyp” (ระยะวัยอ่อนอีกครั้ง) จากนั้นจะค่อย ๆ เติบโต-เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง และที่สำคัญมันสามารถทำแบบนี้ได้แบบไม่จำกัด เรียกได้ว่านี่มันนกฟีนิกส์แห่งท้องทะเลชัด ๆ


หนึ่งในสัตว์ที่หายากที่สุดแห่งดินแดนอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) คือ ​“วาฬนาร์วาล” (Nawhal) ชื่อวิทยาศาสตร์ monodon monoceros เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 6 เมตร หนัก 1,300 กิโลกรัม (มีขนาดใกล้เคียงกับรถบัส 1 คันเลยล่ะ) แต่สิ่งที่ทำให้วาฬชนิดนี้น่าสนใจจริง ๆ ก็คือ เขาที่งอกออกมาจากหัวอันโดดเด่นจนได้รับฉายาว่า “ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล”

โดยความจริงแล้ว “เขา” ที่งอกออกมานั้น แท้จริงคือฟันที่งอกออกมาจากกรามบนด้านซ้าย ที่อาจยาวได้สูงสุดถึง 3 เมตรเลยทีเดียว (ในบทความจะเรียกฟันที่งอกมาว่าเขาเพื่อความเข้าใจง่าย) ซึ่งเขาของมันมีลักษณะเป็นเกลียว มีเส้นประสาทรวมกันมากถึง 10 ล้านเส้น โดยส่วนใหญ่จะมีแต่ตัวผู้เท่านั้นที่มีเขางอกออกมาโดดเด่นแบบนี้ (ตัวเมียบางตัวอาจมีเขางอกออกมาบ้างแต่สั้นและเล็กกว่ามาก)

ไม่เพียงเท่านี้ ในความเท่ยังมีความเท่ขั้นกว่าเพราะในจำนวน 500 ตัว จะมีนาร์วาล 1 ตัว สามารถงอกเขาออกมา 2 เขาได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ตามธรรมชาติเพียง 70,000 ตัวแล้ว นั่นเท่ากับว่ามีนาร์วาลที่มี 2 เขา เพียง 140 ตัวเท่านั้น เรียกได้ว่าแรร์สุด ๆ เลยล่ะ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบถึงจุดประสงค์ที่แน่ชัดของเขาเหล่านี้ แต่คาดว่าพวกมันพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ดึงดูดตัวเมีย

มาพูดถึงการอยู่อาศัยของมันกันบ้าง – วาฬนาร์วาลนั้นอาศัยอยู่บริเวณน่านน้ำอาร์กติกของประเทศแคนาดา กรีนแลนด์ นอร์เวย์และรัสเซีย ในช่วงฤดูหนาวพวกมันจะอยู่ใต้น้ำโดยไม่โผล่ขึ้นมาเลยนาน 5 เดือน มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ 10-20 ตัว แต่บางครั้งก็มีรายงานว่าพบพวกมันอยู่รวมกันนับร้อยตัวเลยก็มี 

ในอดีตาเขาของนาร์วาลมักถูกล่าเพื่อมอบให้กับกษัตริย์ในเมืองต่าง ๆ เพราะเชื่อว่ามันเป็นตัวแทนเขายูนิคอร์น ที่แสดงถึงอำนาจบารมี อีกทั้ง ยังถูกล่าจากชนพื้นเมืองในอาร์กติกอย่างชาวเอสกีโมด้วย ซึ่งอาจฟังดูโหดร้ายแต่สำหรับพวกเขาการล่าวาฬนาร์วาลเป็นไปเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น ซึ่งเป็นประเพณีที่ดำเนินมายาวนานกว่า 1 พันปีแล้ว (ทุกวันนี้ก็ยังล่าอยู่) โดยนาร์วาล 1 ตัวจะช่วยให้พวกเขาสามารถมีอาหารกินไปหลายสัปดาห์เลยทีเดียว

นอกจากนี้ การพัฒของเทคโนโลยี ทั้งเรือเดินสมุทรและการผลิตก๊าซน้ำมัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ล้วนเป็นภัยคุกคามแก่เหล่าวาฬนาร์วาลทั้งสิ้น จนปัจจุบัน IUCN จัดให้สัตว์ชนิดนี้อยู่ในกลุ่มบัญชีสีแดงที่มีแนวโน้มว่าจะถูกคุกคามมากยิ่งขึ้นในอนาคต

Fact – รู้จักกับ “ประเพณีล่าวาฬ” ของชาวอินูเปียต ชนพื้นเมืองในเขตนอร์ทสโลป (North Slope) ของอะแลสกา (Alaska) ซึ่งพวกเขาได้รับอนุญาตให้ล่าวาฬหัวคันศร (bowhead whale) ในจำนวนจำกัดต่อปี โดยเรือลำแรก ๆ ที่พุ่งฉมวกไปยังตัววาฬ เมื่อล่าวาฬสำเร็จ จะนำเนื้อวาฬมาแบ่งกัน ซึ่งวาฬ 1 ตัวสามารถเลี้ยงชีพคนได้ทั้งหมู่บ้านและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน


มารี คูรี (Marie Curie) หรือที่รู้จักกันในนาม “มารดาแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่” เธอเป็นนักเคมีฟิสิกส์ที่ค้นพบธาตุเรเดียมและโพโลเนียม อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีที่ต่อมาถูกพัฒนามาใช้รักษามะเร็งในปัจจุบัน ซึ่งตลอดช่วงชีวิตเธอคลุกคลีอยู่กับสารเคมีจนทำให้ร่างกายและทรัพย์สินของเธอปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไปอีกนานกว่า 1,500 ปี กว่าจะจางหายไป

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1867 มารีเกิดที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เธอเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นนักฟิสิกส์และแม่เป็นครูคณิตศาสตร์ มารีเคยศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างมาก จนกระทั่งการจากไปของแม่ที่ทำให้เธอต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอย่างหนักและไม่เชื่อในความเมตตาของพระเจ้าอีกต่อไป นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอหันหน้าเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง

ในปี ค.ศ.1894 มารีย้ายจากโปแลนด์มาอยู่ฝรั่งเศส และได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนในสาขาวิทยาศาสตร์ การมาเรียนที่นี่ทำให้เธอได้พบกับ ปิแอร์ คูรี (Pierre Curie) นักวิจัยผู้เคยได้รับรางวัลไซเอนซิเอต (Scienciate Award) และสนใจเรื่องแม่เหล็กเหมือนกับเธอ ต่อมาทั้งคู่คบหาดูใจและแต่งงานกันในปี ค.ศ.1895

ในปีเดียวกัน วิลเฮล์ม โรนท์เจน นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันได้ค้นพบรังสีเอ็กซ์ ทำให้ทั้งคู่สนใจเกี่ยวกับการแผ่รังสีอย่างมาก ซึ่งในเวลานั้นเพื่อนคนสนิทของปีแอร์ ค้นพบปรากฏการณ์การแผ่รังสีจากแร่ยูเรเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติทะลุทะลวงเช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ แต่ว่าการแผ่รังสีจากแร่ยูเรเนียมนั้นไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรทางเคมี ซึ่งทั้งคู่ศึกษาลงลึกไปถึงแหล่งที่มา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1898 พวกเขาพบธาตุกัมมันตรังสีชนิดใหม่ โดยตั้งชื่อมันว่า “โพโลเนียม” (Polonium) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศโปแลนด์ บ้านเกิดของมารี ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังพบธาตุอีก 1 ชนิดที่ทรงพลังมากกว่ายูเรเนียมหลายเท่า นั้นคือ ธาตุเรเดียม (Radium) ที่มีคุณสมบัติที่สามารถส่องผ่านเนื้อหนังของมนุษย์ได้ด้วย

โดยการค้นพบดังกล่าวทำให้ในปี ค.ศ.1903 พวกเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ แต่ทว่า 3 ปีต่อมา ปิแอร์ คูรี ต้องจากไปด้วยอุบัติเหตุจากรถม้า ส่งผลให้เธอต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอีกครั้ง แต่มารีก็ยังไม่ย่อท้อต่อการศึกษาธาตุเรเดียมต่อไป จนในปี ค.ศ.1911 เธอพบว่ามันสามารถนำมาฉายแสงเพื่อรักษาโรคได้ และการค้นพบนี้ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเคมี (เป็นผู้หญิงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 สาขา)

เธอใช้เวลาตลอดชีวิตอยู่กับธาตุกัมมันตรังสี จนกระทั่งเธอต้องป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว และในวันที่ 4 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1934 มารีก็เสียชีวิตลง ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว แต่ทรัพย์สิน หนังสือ เสื้อผ้า และกระดูกของเธอยังปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจำนวนมาก ทำให้ข้าวของทั้งหมดถูกบรรจุลงในกล่องที่บุด้วยตะกั่วแน่นหนาเพื่อกักเก็บและป้องกันสารกัมตภาพเหล่านั้นไม่ให้รั่วไหลออกมา ปัจจุบันถูกจัดเก็บอยู่ที่หอสมุด Bibliotheque National ส่วนกระดูกของเธอถูกฝังอยู่ในวิหารแพนธีออน ในกรุงปารีส


“เกาะโซโคตรา” (Socotra Island) เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะในทะเลอาหรับ มหาสมุทรอินเดีย อยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศเยเมนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 380 กิโลเมตร มีพื้นที่ 3,600 ตารางกิโลเมตร เป็นสถานที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติสูงมาก มีพันธุ์ไม้หายากมากถึง 825 ชนิด และสัตว์แปลกอีกกว่า 90% ที่พบได้เฉพาะที่เกาะแห่งนี้แห่งเดียวในโลกเท่านั้น

โดยเกาะโซโคตรานั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของทวีปแอฟริกา แต่จากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกเมื่อ 20 ล้านปีก่อน ทำให้แผ่นดินบางส่วนแยกออกมาจากแผ่นทวีปเกิดเป็นเกาะต่าง ๆ และแม้สถานที่แห่งนี้จะดูห่างไกลและไร้ผู้คน แต่ว่าโซโครตานั้นมีประชากรอาศัยอยู่ราว 60,000 คน ในเมืองฮาดิดูและกาลันซียา ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ

เอาล่ะ..มาเข้าเรื่องความเจ๋งของเกาะนี้กัน – เกาะแห่งนี้ถูกสำรวจอย่างจริงจังเมื่อสมัยทศวรรษที่ 1990 โดยทีมนักชีววิทยาจากสหประชาชาติ ซึ่งพบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอย่างมากตามที่กล่าวไปในย่อหน้าแรก จากบันทึกของทีมสำรวจระบุว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของเกาะแห่งนี้คือ “ต้นไม้เลือดมังกร” (Blood Dragon Trees) ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena cinnabari มีลักษณะเด่นที่ลำต้นสูง มีพุ่มด้านบนบานออกคล้ายกับดอกเห็ด มีใบเล็ก ๆ สีเขียว สามารถพบได้ทั่วทั้งเกาะ ซึ่งที่มาของชื่อนี้มาจากน้ำยางที่มีสีแดงสดเหมือนสีเลือด ในอดีตชนพื้นเมืองใช้ยางไม้เหล่านี้มาทำเป็นยารักษาโรค

นอกจากนี้ยังมี “ต้นขาช้าง” (Elephant Leg Tree) หรืออีกชื่อคือ ต้นแตงกวา (Cucumber Tree) ต้นไม่เฉพาะถิ่นของเกาะโซโครตา มีลักษณะโดดเด่นไม่แพ้กัน คือมีลำต้นอวบใหญ่ มีดอกบนยอดต้นไม้ เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเกาะนี้เลยก็ว่าได้

ไม่หมดเพียงเท่านี้ เกาะโซโคตรายังเปรียบเสมือนแหล่งอัญมณีความหลากหลายทางชีวภาพ เปรียบเสมือนหมู่เกาะกาลาปากอสสาขา 2 ยังไงยังงั้น เนื่องจากมีสัตว์ต่างสายพันธุ์กว่า 700 ชนิดที่อาศัยอยู่เฉพาะบนเกาะแห่งนี้แห่งเดียวในโลก เช่น กิ้งก่า-อาร์มาดิลโล (Armadillo Lizard) หรือ กิ้งก่ามังกร ที่มาของชื่อมาจากลักษณะภายนอกที่มีหนามรอบตัว และป้องกันตัวด้วยการขดตัว-งับหางตัวเองเป็นก้อนกลม เป็นสัตว์ไม่มีพิษ ไม่ทำร้ายมนุษย์ จึงเป็นเหตุให้พวกมันถูกจับนำไปเป็นสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก

ซึ่งนอกจากสัตว์เฉพาะถิ่นแล้ว ยังมีสายพันธุ์สัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกมากที่อพยพมายังเกาะแห่งนี้ บ้างก็ใช้เกาะนี้เป็นที่พักระหว่างทาง เช่น นกแร้งอียิปต์ (Egypt Vultures) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของความหลากหลายที่เกิดขึ้นนี้ แต่คาดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน โดยในปี ค.ศ.2008 เกาะแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO)

Factหมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos) ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกห่างจากแผ่นดินใหญ่ไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร ของประเทศเอกวาดอร์ เกิดขึ้นมาจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อหลายพันปีก่อน โดยลาวาที่ทะลุพื้นทะเลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อตัวเป็นชั้นบนชั้นหิน จนกลายเป็นเกาะในที่สุด ปัจจุบันยังมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น 13 แห่งในหมู่เกาะแห่งนี้ ซึ่งมีการปะทุเป็นระยะ ๆ ซึ่งการปะทุล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 

MKRdezign

Contact Form

Name

Email *

Message *

Powered by Blogger.
Javascript DisablePlease Enable Javascript To See All Widget