“อิรุคันจิ” แมงกะพรุนตัวจิ๋วแต่พิษร้ายแรงอันดับต้น ๆ ของโลก


“แมงกะพรุนอิรุคันจิ” (Irukandji jellyfish) – เป็นชื่อสามัญของแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงอันดับต้น ๆ ของโลก จัดอยู่ในกลุ่มแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) ชนิดมีหนวดเส้นเดียว แม้มันจะมีขนาดตัวที่เล็กเพียง 1-3 เซนติเมตร หนวดยาวประมาณ 30 – 100 เซนติเมตร มีทั้งหมด 4 เส้น แบ่งเป็นด้านละ 1 เส้นรอบตัวมัน แต่เห็นตัวจิ๋วแบบนี้กลับมีพิษร้ายแรงติดอันดับโลก

โดยพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ส่งผลให้เกิดเลือดออกในสมอง อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พิษจะเข้าไปกดทับระบบประสาทจนถึงขั้นหยุดหายใจ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งพิษจะออกฤทธิ์ตั้งแต่ 5-120 นาที (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของคนไข้ – แพทย์ยืนยันว่าพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้รุนแรงกว่างูเห่าบ้านเราเสียอีก) และทุก ๆ ปีจะมีผู้เคราะห์ร้ายจากการโดนพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ราว 50-100 คน ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ฮันนา มิตเชลล์ คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการถูกจู่โจมโดยแมงกะพรุน อิรุคันจิ ขณะว่ายน้ำบริเวณเกาะกู๊ดวินนอกชายฝั่งแดมเปียร์ ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย

ฮันนา เล่าว่า “หลังผ่านไป 40 นาที จากการถูกจู่โจมโดยแมงกะพรุนอิรุคันจิ ฉันรู้สึกสั่นไปทั้งตัวแถมยังไอเป็นเลือด สิ่งที่รู้ได้ในตอนนั้นมันเป็นมากกว่าความเจ็บปวด และคิดว่าตัวเองต้องไม่รอดแน่นอน หลังจากผ่านช่วงโคม่าไป 2 วัน ฉันตื่นขึ้นมาและรับรู้ว่าปอดกับหัวใจถูกทำร้ายอย่างหนักหน่วง” ซึ่งในบริเวณเกาะดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตจากพิษของแมงกะพรุนมากกว่า 80 คน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1883 เป็นต้นมา โดยแบ่งเป็น 79 รายจากแมงกะพรุนกล่อง และอีก 2 รายจากแมงกะพรุนอิรุคันจิ

ถ้าอย่างนั้นแมงกะพรุนอิรุคันจิถือเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกหรือไม่ ? – แม้จะถูกกล่าวขานถึงพิษอันโหดร้ายและรุนแรงแต่มันยังไม่ใช่ที่สุดของโลก เพราะตัวที่รุนแรงที่สุดในโลกของจริงคือ “แมงกะพรุนกล่องชนิดมีหนวดหลายเส้น” ที่เรารู้จักกันส่วนใหญ่นั่นเอง

เพิ่มเติม – การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกจู่โจมจากแมงกะพรุนอิรุคันจิ คือการเทน้ำส้มสายชูบริเวณแผล เพราะน้ำส้มสายชูจะช่วยไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับพิษเพิ่มขึ้น (แต่น้ำส้มสายชูไม่ได้ช่วยชำระล้างพิษและไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้) นอกจากนี้ ห้ามใช้นิ้วหรือวัตถุใด ๆ ในการถอดหนวดออกเด็ดขาด เพราะจะเร่งให้เข็มพิษจากหนวดปล่อยพิษเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งการโดนแมงกะพรุนโจมตีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล ไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำว่า วิธีหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแมงกะพรุนเหล่านี้คือ การอยู่ให้ห่างจากที่อยู่อาศัยของพวกมัน โดยแมงกะพรุนกล่องทั่วไปมักจะอยู่ใกล้ชายฝั่ง ขณะที่แมงกะพรุนอิรุคันจิจะอยู่ทั้งบริเวณใกล้และนอกชายฝั่งออกไป รวมทั้งบริเวณแนวปะกะรังนอกชายฝั่งด้วย แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจคิดว่ามันจะเกิดขึ้นแต่ในออสเตรเลียนะ เพราะเจ้าแมงกะพรุนเหล่านี้ถูกพบได้บ่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งไทย-ฟิลิปินส์ เลยล่ะ

Fact – รู้จัก “แมงกะพรุนอมตะ” (Immortal Jellyfish) ชื่อวิทยาศาสตร์ Turritopsis dohrnii มีขนาดตัวเล็กจิ๋วเพียง 4.5 มิลลิเมตรเท่านั้น (เทียบเท่าเม็ดถั่ว) ซึ่งแม้จะตัวเล็กแต่พวกมันกลับซ่อนความสามารถพิเศษที่เมื่อใดก็ตามที่อายุเริ่มเยอะ ร่างกายเริ่มเสียหาย หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม พวกมันจะทำการหดตัวให้เล็กลง และร่างกายจะจัดเรียงเซลล์ใหม่กลายเป็น “Polyp” (ระยะวัยอ่อนอีกครั้ง) จากนั้นจะค่อย ๆ เติบโต-เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง และที่สำคัญมันสามารถทำแบบนี้ได้แบบไม่จำกัด เรียกได้ว่านี่มันนกฟีนิกส์แห่งท้องทะเลชัด ๆ

Post a Comment

[blogger]

MKRdezign

Contact Form

Name

Email *

Message *

Powered by Blogger.
Javascript DisablePlease Enable Javascript To See All Widget